ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว

ก่อน  พ.ศ. 2536

เป็นส่วนอำเภอขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ ส่วนอำเภอสระแก้ว ส่วนอำเภอวัฒนานคร  ส่วนอำเภออรัญประเทศ  ส่วนอำเภอตาพระยา  ส่วนอำเภอคลองหาด  และส่วนอำเภอวังน้ำเย็น

หลัง พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2540

                   จังหวัดสระแก้ว  ได้จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดสระแก้ว  เมื่อวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.2536  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ  เล่มที่  110  ตอนที่  125  ลงวันที่  2  กันยายน  2536  เป็นผล      ทำให้เกิด  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วขึ้น  โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด  พ.ศ.2498  มีส่วนราชการ  3  ส่วน  คือ  สำนักงานเลขานุการจังหวัด  ส่วนการคลัง  และส่วนโยธา  มีข้าราชการปฏิบัติหน้าที่เรียกว่า “ข้าราชการส่วนจังหวัด”  ปลัดจังหวัดทำหน้าที่ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยตำแหน่ง  เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด  และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดครั้งแรกในจังหวัดสระแก้ว  เมื่อวันที่  24  ธันวาคม  2538  มีสมาชิกสภาจังหวัด  24  คน

ปลายปี  2540 – พ.ศ. 2547

                   พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด  พ.ศ.2540  มีผลบังคับใช้วันที่  1  พฤศจิกายน  2540   ทำให้มีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด  เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม  2540 และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วคนแรก  คือ นายทรงยศ  เทียนทอง  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว  เขตอำเภอวัฒนานคร  ต่อมาเมื่อวันที่  4  ธันวาคม  2541  และวันที่  5  กุมภาพันธ์ 2543  สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วได้มีมติเลือก  นายทรงยศ   เทียนทอง  สมาชิกสภา-องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว  เขตอำเภอวัฒนานคร  ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ตามลำดับ  จนถึงวันที่  4  กุมภาพันธ์  2547

ปี  พ.ศ. 2547  – ปัจจุบัน

          ตั้งแต่วันที่  5  พฤศจิกายน  2546 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3)  พ.ศ. 2546  เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใหม่จากเดิม ที่กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เป็นกำหนด ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในจังหวัด  รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้มีความเหมาะสม สามารถบริหารงานตามนโยบายที่แถลงต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบริหารงานเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น  

ติดต่อ อบจ.สระแก้ว